ประเด็นร้อน
กฎหมาย7ชั่วโคตร ทำเรื่องเทาเป็นดำ
โดย ACT โพสเมื่อ Aug 03,2017
- - สำนักข่าว กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 03/08/60 - -
หลังจากที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งก่อนหน้านี้มีการเรียกว่าเป็น "กฎหมาย 7 ชั่วโคตร"
เนื่องจากครอบคลุมถึงคู่สมรสทั้งจดทะเบียนสมรส และไม่จดทะเบียนสมรสญาติ คือ ผู้สืบสันดาน ประกอบไปด้วย บุพการี ลูก คู่สมรส พี่น้อง ของเจ้าหน้าที่รัฐ บุตรบุญธรรม และผู้ที่รับเป็นบุตรบุญธรรม ก่อนจะถูกปรับให้ครอบคลุม"4ชั่วโคตร" คือ บุพการี ผู้สืบสันดาน คู่สมรส และพี่น้องร่วมบิดามารดา
สำหรับสาระสำคัญของร่างพพ.ร.บ.ฉบับนี้ จะเป็นกลไกในการกำกับทั้งข้าราชการ รวมทั้งรัฐวิสาหกิจ องค์กรมหาชน รวมไปถึงภาคเอกชนที่เข้ามาเป็นคณะกรรมการในภาครัฐ
โดยห้ามดำเนินการในลักษณะที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ อาทิ การห้ามดำเนินการในลักษณะการใช้ข้อมูลภายในของรัฐที่ยังเป็นความลับอยู่ ซึ่งตนได้รับหรือรู้จากการปฏิบัติราชการโดยทุจริต การริเริ่ม เสนอ จัดทำ หรืออนุมัติโครงการของรัฐหรือของหน่วยงานของรัฐโดยทุจริต การใช้ทรัพย์สินของหน่วยงานที่ตนสังกัดหรือที่ตนปฏิบัติหน้าที่อยู่ไปเพื่อประโยชน์ของตนหรือผู้อื่น นอกจากนี้ยังห้ามรับของขวัญ ของที่ระลึก หรือทรัพย์สินอื่นใดที่ประเมินเป็นเงินได้เว้นแต่เป็นการให้ตามประเพณีนิยม
ขณะเดียวกันยัง ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ยังไม่ถึง 2 ปี เป็นกรรมการ ที่ปรึกษา ตัวแทน พนักงาน ลูกจ้าง ผู้รับจ้าง หรือดำรงตำแหน่งอื่นในธุรกิจของเอกชนซึ่งเคยอยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ของตน และรับเงินหรือประโยชน์ตอบแทนอื่นจากธุรกิจของเอกชนดังกล่าวเป็นพิเศษ
รวมทั้งห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งพ้นจากตำแหน่งหรือออกจากราชการหรือหน่วยงานของรัฐ กระทำโดยประการใด ๆ ให้ผู้อื่นล่วงรู้ความลับของทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐ หรือใช้ความลับดังกล่าวไปโดยทุจริต
นอกจากนี้กำหนดให้บุคคลที่เกี่ยวข้อง มีสิทธิยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีโครงการของรัฐที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเข้าลักษณะเป็นการทุจริตหรือการขัดกันระหว่างประโยชน์
รวมทั้งกำหนดให้ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด และประธาน ป.ป.ช.รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
เรื่องนี้ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า กฎหมายฉบับดังกล่าวชจะทำให้เรื่องที่เป็น"สีเทา"กลายเป็น"สีดำ"
เสียงสะท้อนจากภาคส่วนต่างๆต่อกฎหมายฉบับนี้เริ่มที่ มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น มองว่า ในส่วนขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นได้เคยเรียกร้องให้มีการออกกฎหมายฉบับดังกล่าวมานานมากแล้วแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ
กฎหมายดังกล่าวเมื่อครม.มีมติเห็นชอบในหลักการแล้วส่วนตัวยังมองว่า ยังมีวิบากกรรมตามขั้นตอนอีกพอสมควรทั้งส่งหนังสือเวียนไปตามหน่วยราชการต่างๆเพื่อมีข้อเสนอแนะ และกลับมาที่กฤษฎีกาเพื่อดำเนินการยกร่าง ก่อนจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)แต่หากยังมีข้อขัดข้องก็อาจจะต้องเวียนขอข้อคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆเป็นเวลานาน
"ส่วนตัวยอมรับว่ามีความกังวลในเรื่องนี้เพราะเราไม่รู้ว่า แม้จะเข้าสนช.แล้วแต่ตามโรดแมพสนช.จะเหลือเวลาอีกประมาณ 1ปีจึงเกรงว่ากระบวนการออกกฎหมายที่ใช้เวลานานอาจจะไม่ทันเวลา อีกทั้งกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่มีผู้ขัดขวางค่อนข้างเเยอะมากตั้งแต่ในอดีตจึงเป็นห่วงว่า ถ้าไม่ผลักดันกันให้จริงจังก็จะไปไม่รอด"
กระนั้นส่วนตัวยังมองว่าข้อดีของกฎหมายฉบับนี้คือ เรื่องของความเท่าเทียมความเป็นธรรม ขณะเดียวกันในแง่ความผิดก็จะมีในเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้าง รวมทั้งการ ห้ามข้าราชการไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาให้กับบริษัทเอกชน ซึ่งเคยมีกรณีนี้เกิดขึ้นมาแล้วกฎหมายฉบับนี้จะเป็นการป้องกันไม่ให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เอาความลับไปบอกกับเอกชน และแม้จะเกษียณรอายุราชการแล้วแต่ในทางปฏิบัติเรามักจะเห็นว่า คนเหล่านี้มักจะมีอิทธิพลต่อคนรุ่นน้อง กฎหมายฉบับนี้จึงพยายามที่จะป้องกันในเรื่องนี้
ส่วนข้อท้วงติงที่ว่า กฎหมายฉบับนี้จะซ้ำซ้อนกับกฎหมายที่มีอยู่ อาทิกฎหมายป.ป.ช.โดยเฉพาะในประเด็นหารห้ามรับสิ่งของที่สามารถประเมินมูลค่าได้เกิน3,000 บาทนั้น มองว่า คงไม่ซ้ำซ้อน เรื่องนี้มีเขียนกฎหมายป.ป.ช.แต่ที่ผ่านมาจะเป็นมีการบังคับไปที่ข้าราชการเฉพาะแค่ประเด็นการรับของมูลค่าไม่เกิน 3,000 บาท ขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันระบุแต่เพียงนักการเมืองและคณะรัฐมนตรี(ครม.) แต่กฎหมายฉบับนี้จะครอบคลุมทั้งหมด คนที่ถืออำนาจรัฐอยู่มีโอกาสจะให้คุณให้โทษดกับคนอื่นกฎหมายฉบับนี้ก็จะครอบคลุมทั้งหมด
"ส่วนตัวยังมีความหวังในการผลักดันในเรื่องนี้ และเป็นเรื่องที่จำเป็น ที่ผ่านมามีพฤติกรรมหลายๆอย่างที่เอาผิดไม่ได้และตัดสินกันยากมาก อาทิพวกคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย คอร์รัปชั่นทางการเมือง ผลประโยชน์ทับซ้อนถ้ามีกฎหมายฉบับนี้ออกมาก็จะสามารถเอาผิดในเรื่องเหล่านี้ได้"
ในมุมของ สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) มองว่า ส่วนตัวยังไม่เห็นเนื้อหาโดยละเอียด แต่อันที่จริงเรื่องดังกล่าวมีบทบัญญัติระบุไว้ในกฎหมายป.ป.ช.อยู่แล้ว แต่อาจจะมีการบังคับใช้กับเจ้าหน้าของรัฐและนักการเมือง กฎหมายฉบับนี้จึงอาจจะมีผลครอบคลุมที่กว้างขวางขึ้น ซึ่งอาจะเป็นการป้องกันการทุจริตที่ดีในระดับหนึ่ง
ทั้งนี้มองว่า คนที่จะกระทำการทุจริตต้องเป็นคนที่มีอำนาจ มีโอกาส ขาดความยับยั้งชั่งใจ เพราะฉะนั้นกฎหมายฉบับนี้จะเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะมาป้องกันตรงนี้ แต่ก็ควรที่จะต้องมีการปลูกฝังตั้งแต่ระดับโรงเรียน และครอบครัว จึงมองว่ากฎหมายฉบับนี้ได้ผลในระดับหนึ่งเพราะบางทีคนที่จะกระทำผิดมักไม่คำนึงว่าผิดกฎหมาย หรือคิดว่าจับได้ก็รับโทษ จับไม่ได้ก็สบาย
ส่วนข้อท้วงติงที่ว่า ประเด็นความซับซ้อนกับกฎหมายที่มีอยู่ อาทิประเด็นการห้ามรับสิ่งของที่สามารถประเมินมูลค่าได้เกิน3,000 บาทนั้น มองว่าการจะบัญญัติให้ครอบคลุมมากขึ้นสามารถทำได้แต่คิดว่าเจ้าหน้าที่เองก็คงมีข้อระวังในเรื่องนี้อยู่แล้ว ซึ่งจำนวนเงิน 3,000 บาทไม่ใช่จำนวนมากนัก
จึงมองว่าการออกกกฎหมายต้องคำนึงถึงเทศกาลบ้านเมื่อโดยต้องคำนึงว่าสามารถบังคับใช้ได้จริงหรือไม่ เพราะหากออกกฎหมายที่ไม่เหมาะสมก็อาจจะส่งผลตามมาในภายหลังได้
พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ส่วนตัวยังไม่ได้เห็นสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้จึงยังไม่สามารถให้ความเห็นได้มากนัก แต่การที่กฎหมายฉบับระบุให้เป็นอำนาจของป.ป.ช.ในการดำเนินการแต่อาจจะมีการเพิ่มองค์กรอื่นเข้ามาทำหน้าที่เพื่อความครอบคลุมขึ้น จึงคิดว่าไม่น่าจะซ้ำซ้อนอะไรกับที่มีอยู่เดิม ส่วนตัวมองว่าเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญในการป้องกันคอร์รัปชั่นซึ่งที่ผ่านมามีการดำเนินการที่ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้ก็จะมาควบคุมในเรื่องดังกล่าว
'กฎหมายฉบับนี้จะครอบคลุมคนที่ถืออำนาจรัฐที่มีโอกาสให้คุณให้โทษกับคนอื่นทั้งหมด'